Skip to main content

 
 
 

History of Traditional Medicine

✒ ประวัติแพทย์แผนโบราณ



⦾ นั้นเริ่มมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งในสมัยนั้นมีผู้หนึ่ง ชื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ หรือ ชีวกกุมารภฤต  มักย่อว่า ชีวกะ เกิดในราชคฤห์ เมืองหลวงของมคธซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์ โดยมารดาทอดทิ้งและได้เจ้าชายอภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้าจึงทรงเก็บมาเลี้ยงดูและได้ประทานนามว่า "ชีวกะ" ที่แปลว่า "ผู้มีชีวิต "โกมารภัจจ์" อันแปลว่า "ผู้รับใช้กุมาร" เมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้น ท่านค้นพบชาติกำเนิดของตน จึงได้ตั้งใจเรียนให้สูงเพื่อทดแทนภูมิหลัง และด้วยมีความสนใจในการศึกษาวิชาแพทย์เพราะเห็นว่าเป็นวิชาที่ไม่เบียดเบียนผู้ใด และด้วยเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ปรารถนาจะรักษาช่วยเหลือผู้ที่ป่วยไข้ จึงได้ศึกษาวิชาการแพทย์ในสำนักทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักศิลา เป็นมหาวิทยาลัยและศูนย์กลางของศิลปวิชาการในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่มาเล่าเรียนในแถบดินแดนชมพูทวีป เมืองตักศิลาถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เป็นหนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป สถาปนาขึ้นโดยชาวอารยัน ตักศิลาตกอยู่ภายใต้อารยธรรมที่หลากหลาย ด้วยท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้ที่ฉลาดมีความสามารถในการเรียนรู้ เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ความทรงจำดี ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อจบวิชาการแพทย์ก็เริ่มรักษาคนในราชคฤห์ สามารถรักษาคนไข้ครั้งเดียวก็หายได้ ความสำเร็จในการรักษาของท่านทำให้ท่านมีชื่อเสียงเลื่องลือ ในเวลาต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรด้วยโรคริดสีดวงทวารก็ทรงโปรดให้หมอชีวโกมารภัจจ์เข้าไปถวายการรักษา ท่านได้ถวายการรักษาด้วยการทายา ไม่นานนักพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหายจากโรคที่เป็น จึงโปรดให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์และบำรุงพระสงค์ ยิ่งท่านได้ถวายงานต่อพระพุทธเจ้า ท่านก็ยิ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนาในที่สุดจึงได้เป็นอุปถัมภกคนสำคัญของพุทธศาสนา ทั้งได้สร้างวัดนามว่า "ชีวการามวิหาร" ถวายพระพุทธเจ้าด้วย นับว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถตั้งแต่ในครั้งพุทธกาลและมีผู้เคารพยกย่องมากมาย เอกสารบางฉบับได้มีบรรยายวิธีการซับซ้อนที่ท่านใช้ในการแพทย์ อธิเช่น วิธีการบางอย่างที่อาจตีความได้ว่าเป็นวิธีการผ่าตัดสมอง แต่คุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของเนื้อหาเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในหมู่นักวิชาการ ถึงกระนั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ก็มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องเล่าขานของเอเชียในฐานะแพทย์ตัวอย่าง ทั้งได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์ต้นแบบของแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศแถบเอเชีย

ประวัติการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย

         การแพทย์แผนไทยโบราณ เป็นการดูแลสุขภาพร่างกายทั้งสภาวะปกติและสภาวะที่ผิดปกติ โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่างๆในร่างกาย ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และสรีระศาสตร์ จากหลักฐานสมัยอยุธยาพบว่า การแพทย์แผนไทยโบราณได้รับจากอายุรเวทอินเดียเป็นสำคัญ โดยกล่าวว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นผู้แต่งคัมภีร์แพทย์ ครั้นพระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้ามาสู่ประเทศสยาม (ประเทศไทย) พระสงฆ์ผู้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้นำความรู้ในการรักษาโรคเข้ามาใช้กับชาวบ้านด้วย จึงเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวสยาม  องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยโบราณล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการสะสมประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมองว่าจิตใจและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์มีการทำงานที่สัมพันธ์และเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจักรวาล การแก้ปัญหาจึงใช้วิธีแบบองค์รวม จึงไม่ใช่เรื่องของการแพทย์อย่างเดียวล้วน ๆ แต่เป็นเรื่องของปรัชญาความคิดที่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชีวิตชาวสยาม

1.) การแพทย์แผนโบราณสมัยก่อนรัตนโกสินทร์

         นั้นได้มีการค้นพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอมประมาณปี พ.ศ. ๑๗๒๕ - ๑๗๒๙ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาล เรียกว่า อโธคยาศาลา  โดยมีผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล ได้แก่ หมอ พยาบาล เภสัขกร รวม ๙๒ คน มีพิธีกรรมบวงสรวง พระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ด้วยยาและอาหารก่อนแจกจ่ายไปยังผู้ป่วย ต่อมามีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดีและศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยสุโขทัย ได้บันทึกไว้ว่า ทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฎรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย

         ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ค้นพบบันทึกว่า มีระบบการจัดยาที่ชัดเจนสำหรับราษฎร มีแหล่งจำหน่ายยาและสมุนไพรหลายแห่ง มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณ เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ การแพทย์แผนโบราณมีความรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวดและในสมัยนั้นการแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาจัดตั้งโรงพยาบาลรักษาโรค แต่ขาดความนิยมจึงได้ล้มเลิกไป

2.) การแพทย์แผนโบราณในสมัยรัตนโกสินทร์

         รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงปฎิสังขรณ์วัดโพธาราช หรือ วัดโพธิ์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ให้ชื่อว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายา ฤาษีดัดตน ตำราการนวดไว้ตามศาลาราย ส่วนการจัดหายาของทางราชการมีการจัดตั้งกรมหมอและโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา แพทย์ที่รับราชการเรียกว่า หมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาราษฎรทั่วไป เรียกว่า หมอราษฎร หรือ หมอเชลยศักดิ์ หมอกลางบ้านและหมอพระ
         รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าคัมภีร์แพทย์ ณ. โรงพระโอสถสมัยอยุธยานั้นสูญหายไป เนื่องจากตอนนั้นมีสงครามกับพม่า ๒ ครั้ง บ้านเมืองถูกทำลายและราษฎรรวมทั้งหมอแผนโบราณถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยทำให้ตำรายาและข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ของไทยสูญหายและถูกทำลายไป จึงมีพระบรมราชโองการให้เหล่าผู้ชำนาญโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งที่มีตำรายานำเข้ามาถวายและให้กรมหมอหลวงคัดเลือกไว้ พร้อมทั้งให้นำมาจดบันทึกเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถและในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายชื่อว่า "กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย" ขึ้นโดยมีใจความว่า “ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฏมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาทั้งนั้น” ภายหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค หรือที่เรียกว่า โรคห่า ครั้งรุนแรงในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๓- ๒๓๖๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส บริเวณผนังด้านนอกของกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาศน์ วัดราชโอรสรามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยในครั้งนั้นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ) ได้เป็นผู้ทรงเลือกตำรายาบางส่วนจากครั้งนั้นมาจารึกบนหินอ่อนและประดับไว้ที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อันเป็นที่สาธารณะเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ราษฎรโดยทั่วไป
          รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้ง ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก คือ "โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์" ในงานฉลองวัดโพธิ์สมัยนั้น ทรงดำริว่า อันตำรายาไทยและการรักษาโรคแบบอื่นๆ เช่น การบีบนวด ประคบ หมอที่มีชื่อเสียงต่างก็หวงแหนตำราของแต่ละคนไว้เป็นความลับ ตลอดจนการรักษาโรคทางตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศสยามและในเวลาอันใกล้น่าจะบดบังรัศมีของการแพทย์แผนโบราณเสียหมดสิ้น สุดท้ายอาจไม่มีตำรายาไทยเหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังก็เป็นแน่ จึงทรงประกาศให้ผู้มีตำรับตำรายาโบราณทั้งหลายที่มีสรรพคุณดีและเชื่อถือได้ เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น นำมาจารึกเป็นหลักฐานไว้บนหินอ่อน ประดับไว้บนผนังพระอุโบสถ ศาลาราย เสา และกำแพงวิหารคตรอบพระเจดีย์สี่องค์และตามศาลาต่างๆของวัดโพธิ์ ที่ปฎิสังขรณ์ในครั้งนั้น การจารึกนี้เป็นเป็นตำราบอกสมุฎฐานของโรคและวิธีการรักษาพร้อมทั้งยังได้มีการจัดหาสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและที่หายากมาปลูกไว้ในวัดโพธิ์เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นได้ทรงให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์จะฝึกตนเป็นแพทย์หรือหาทางบำบัดตนได้ศึกษาเป็นสาธารณะทาน นับว่าเป็นการจัดการศึกษาให้กับประชาชนรูปแบบหนึ่ง ตำรายาเหล่านี้พอจะทราบกันดีในบรรดาหมอไทยว่าตำราดีจริงๆนั้น คงไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างแท้จริง แต่ก็ยังได้เป็นอนุสรณ์และถือว่าเป็นโรงเรียนการแพทย์ของเมืองสยาม รัชสมัยนั้นมีการนำเอาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผยแพร่โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยการนำของ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งคนสยามเรียกว่า หมอบรัดเลย์ เช่นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การใช้ยาเม็ดควินินรักษาโรคจับสั่น เป็นต้น รวมทั้งยังเขียนหนังสือเพื่อสอนและเขียนบทความอธิบายวิธีการปลูกฝี ในภายหลังรัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานรางวัลให้ และหมอบรัดเลย์นำมาเป็นเงินทุนในการทำตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกนี้ชื่อว่า ครรภ์ทรักษา มีความหนา ๒๐๐ หน้า มีภาพประกอบฝีมือคนไทยประมาณ ๕๐ ภาพ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาการของโรคในการคลอดและวิธีการแก้ไขรักษา (ในการแพทย์แผนโบราณจะมีตำราชื่อว่า คัมภีร์ประถมจินดา อันพระอาจารย์หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้แต่งไว้ในกาลก่อน โดยเป็นตำราโรคเกี่ยวกับสตรี มารดาและทารก หญิงมีครรภ์ก่อนคลอด)
          รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ได้นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาหลายประการ ทั้งการผ่าตัดและการป้องกันโรค ด้วยทั้งหมอบรัดเลย์ได้เปิดสถานพยาบาลการแพทย์แผนตะวันตกเพื่อรักษาผู้ป่วยในพระนคร และในปีแรกเจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จมาเยี่ยม เล่าให้ฟังเรื่องประเพณีการอยู่ไฟของมารดาหลังคลอด หมอบรัดเลย์ได้เสนออยากจะสอนให้ชาวสยามบางคนรู้จักภาษาอังกฤษแลสอนวิชาแพทย์ที่มี โดยในช่วงนั้นที่มีการปลูกฝีมีหมอหลวงมาศึกษากับหมอบรัดเลย์กันมากและยังเขียนหนังสือเพื่อสอนหมอชาวสยาม เช่น การผดุงครรภ์ การคลอด อาการของโรคในการคลอด วิธีการแก้ไขรักษา และพยายามสอนให้ชาวสยามเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มารดาหลังคลอดเสียชีวิต จึงไม่สามารถให้ราษฎร์เปลี่ยนความนิยมได้ ด้วยการรักษาพยาบาลแผนโบราณเป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมาและเป็นส่วนหนึ่งขอวิถีชีวิตของชาวสยาม
          รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งศิริราชพยาบาล ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ มีการเรียนการสอนและให้การรักษาทั้งการแพทย์แผนโบราณและแผนตะวันตกร่วมกัน หลักสูตร ๓ ปี แต่เป็นการยากในการจัดการเรียนการสอนและบริการรักษาร่วมกันด้วยมีการขัดแย้งระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นอย่างมากด้วยหลักการแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันทำให้ยากที่จะผสมผสานกันได้ และมีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยพระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) ชื่อตำรา "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" ได้รับยกย่องให้เป็นตำราแห่งชาติฉบับแรก ตำราแพทย์แผนโบราณฉบับหลวงเกิดจากพระราชดำริที่ทรงเห็นว่าคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ และตำรายาพื้นบ้านของสยามมีคุณค่ายิ่ง มีการศึกษาคัดลอกต่อกันมา ทำให้สูญหายไปบ้าง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประชุมแพทย์หลวงนำคัมภีร์แพทย์จากที่ต่างๆมาตรวจสอบ ชำระ ให้ตรงกับฉบับดั้งเดิม คือ คัมภีร์ประถมจินดา นับว่าเป็นภูมิปัญญาตะวันออกอย่างแท้จริง จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๕๐ ต่อเห็นว่าตำราเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษา จึงได้ดำเนินการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นเล่มเดียวอยู่ในหนังสือชุดวรรณกรรมหายาก ชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางแพทย์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา ๖ รอม ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการฟื้นฟูบูรณาการการแพทย์แผนไทยขึ้นอย่างเร่งด่วนหลังจากที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เพียง ๒ ปี โดยโปรดฯให้มีการประชุมแพทย์หลวงและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมและชำระตำรายาไทยบันทึกเป็นหลักฐานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ เรียกว่า "เวชศาสตร์ฉบับหลวง" และต่อมาได้นำเวชศาสตร์ฉบับหลวงมาปรับปรุงและจัดพิมพ์เรียกตำรานี้ว่า แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ๒ เล่ม ประกอบด้วย ๑๔ คัมภีร์ และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป ๓ เล่ม ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้
          รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณ มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของแพทย์และได้มีการประกาศให้ใช้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมี "สภาการแพทย์" ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับราษฎร อันเนื่องจากการตรวจและรักษาโรคของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด โดยให้เหตุผลว่าด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ของการแพทย์แผนโบราณ จึงทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากเลิกการเป็นแพทย์แผนโบราณและบ้างก็เผาตำรับตำราของตนทิ้ง ถือว่าเป็นช่วงตกต่ำของวงการแพทย์แผนโบราณ
          รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออก "ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ" (คือการประกอบวิชาชีพของแพทย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริม และการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พร้อมปรับแก้ไขพระราชบัญญัติการแพทย์ แบ่งเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

          ตรากฎหมายเสนาบดีแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น "แผนปัจจุบัน" และ "แผนโบราณ" โดยกำหนดว่า

๑.) ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม ซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้นโดยอาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

๒.) ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความสังเกต ความชำนาญ อันได้สืบต่อกันมาเป็นที่ตั้งหรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์ การออกกฏนี้จึงทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณแยกจากกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนโบราณเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เปลี่ยน "สภาการแพทย์" เป็น "สำนักงานคณะกรรมการแพทย์" และแก้ไขพระราชบัญญัติการแพทย์ ครั้งที่ ๒ และตราพระราชบัญญัติการแพทย์เพิ่มเติม


          รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. ๒๔๖๖ ๒๔๗๒ และ ๒๔๗๖ และตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ ขึ้นใช้บังคับแทนตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๘๐ เปลี่ยนชื่อ "สำนักงานคณะกรรมการแพทย์" เป็น "สำนักงานเลขาธิการนายทะเบียนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ" โดยมี "คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ" ทำหน้าที่แทนสภาการแพทย์ ตามกฎหมายฉบับนี้ยังคงแบ่งการประกอบโรคศิลปะเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ และมีผลต่อการควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์อย่างยาวนานต่อเนื่องถึง ๖๓ ปี ในรัชสมัยนั้นมีการศึกษาวิจัยสมุนไพรเพิ่มขึ้น ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการลุกลามเข้ามาในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์" (ท่านยังเป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกเอาวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแพทยศาสตร์มาประยุกต์และได้รับสมญานามว่าเป็น บิดาแห่งแพทย์แผนไทยประยุกต์) ได้ทำวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลสัตหีบ หลังสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน จึงมีนโยบายให้โรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรค
          รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๔๙๕ เปลี่ยนชื่อ "กระทรวงการสาธารณสุข" เป็น "กระทรวงสาธารณสุข" และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ มีการสอนทั้งวิชาเภสัชกรรม, เวชกรรม และการผดุงครรภ์ไทย และการนวดแผนโบราณ ตามกระแสรับสั่ง และมีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร ปีพ.ศ. ๒๕๐๐ นับแต่นั้นมา สมาคมต่างๆก็ได้แตกสาขาออกไปและมีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จนกระทั่งในปี ๒๕๒๐ องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมทำแผนงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม ตามมาด้วยการออกปฏิญญาอัลมา-อาตา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยองค์การอนามัยโลกขอให้ประเทศสมาชิกใช้การแพทย์ดั้งเดิมและยาจากสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของงานสาธารณสุขมูลฐาน มีผลให้บทบาทของสมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือก และส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙) ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๙) ได้ระบุให้มีการส่งเสริมสุขภาพด้วยการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน เช่น การแพทย์แผนโบราณ สมุนไพร และการนวด และผสมผสานเข้ากับระบบบริการการแพทย์แผนปัจจุบัน และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔) ได้ระบุในหัวข้อยุทธวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และความสามารถในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข โดยให้สนับสนุนการพัฒนาการแพทย์แผนไทย เพื่อให้สามารถผสมผสานเข้าในระบบสาธารณสุขการส่งเสริมการพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และการใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรได้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะของคนไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อมาจนถึงฉบับที่ ๑๑ ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) โดยสอดคล้องกับ “แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นแนวปรัชญาที่นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้รับการก่อตั้งโดยศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ให้อบรมศึกษาด้านการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ สถานที่ตั้งโรงเรียนอายุรเวทที่โรงเรียนสวนบัว ซ.ราชครู เป็นที่ตั้งของสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์ฯ และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์รับรักษาคนไข้ทั่วไปบริหารโดยสมาคมฯ ส่วนโรงงานผลิตยาและห้องสมุดซึ่งมีตำราเก่าแก่ด้านการแพทย์แผนไทยมากมายถูกโยกย้ายไปอยู่ที่สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๒ มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พร้อมการจัดตั้งหน่วยงาน สถาบันการแพทย์แผนไทย พร้อมด้วยการปรับเปลี่ยนระบบภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ให้เป็นกองหนึ่งใน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ก้าวหน้า ได้รับการดูแลคุ้มครองและยังคงรากฐานความมั่นคง

          ปัจจุบันการแพทย์แผนไทยโบราณได้แบ่งออกเป็น ๔ สาขา คือ

๑.) สาขาเวชกรรมไทย เป็นการตรวจ การวินิจฉัยโรค เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคตามแนวทางของการแพทย์แผนไทย จากนั้นจึงทำการบำบัดหรือรักษา หรือป้องกันด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย 

๒.) สาขาเภสัชกรรมไทย เป็นการเตรียมยา การผลิตยาแผนไทย ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย 

๓.) สาขาผดุงครรภ์ไทย เป็นการดูแลสุขภาพของมารดาและเด็กในครรภ์ ตั้งแต่ก่อนคลอด การทำคลอด พร้อมทั้งการดูแลและส่งเสริมสุขภาพมารดาและเด็กในระยะหลังคลอด แต่ในปัจจุบันหน้าที่ในการทำคลอดแบบแผนไทยมีน้อยลง แต่จะเน้นในการดูแลสุขภาพของ มารดาหลังคลอดมากขึ้น

๔.) สาขาการนวดไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เมื่อมีอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บป่วย ตนเองหรือญาติมิตรมักจะบีบนวดบริเวณดังกล่าวนั้น ทำให้อาการปวดเมื่อยคลายลง ในครั้งแรกๆ เป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ ต่อมาเริ่มสังเกตเห็นผลของการบีบนวดในบางจุดหรือบางวิธีที่ได้ผล จึงเก็บไว้เป็นประสบการณ์และกลายเป็นความรู้ที่สืบทอดกันต่อๆ มา การนวดไทยปัจจุบัน มีทั้งการนวดเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย การนวดเพื่อสุขภาพ และการนวดเพื่อเสริมสวย ในบางคนอาจจะมีการใช้ยาสมุนไพรควบคู่ไปด้วยก็มี เช่น ให้รับประทานยาสมุนไพร หรือในระหว่างการนวดอาจจะมีการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรด้วยก็ได้


          รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ทั้งด้านการแพทย์แผนไทยโบราณและแพทย์แผนปัจจุบัน) โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยและยังทรงเป็นองค์ประธาน ในการจัดสร้าง มูลนิธิกาญจนบารมี ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

          อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย ที่ในปัจจุบันการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบันทั้งสองแขนงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการรักษา จึงมั่นใจได้ว่า วิธีการบำรุง บำบัด รักษา ได้รับการรับรองและความน่าเชื่อถือในหลักสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมความเชี่ยวชาญในการผสมผสานของการนำพืชสมุนไพรและวิทยาการด้านการแพทย์มาใช้ให้ทันสมัยและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มาของบทความ:   ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม
                                                   โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกรทรวงสาธารณสุข


  |  HOME⏎  |  ARCHIVE  |  GUESTBOOK  |